Q

วันนี้เอาเรื่องน่าสนใจมาฝากนะครับยาวไปหน่อยแต่มีประโยชน์ขอให้ค่อยๆ อ่านไปละครับ โดยเฉพาะตัวหนังสือสีนำเงิน

ในปัจจุบัน คำย่อ “Q” (Quotient) ถูกนำมาวางหลังพยัญชนะตั้งแต่ A – Z คล้ายกับเป็นการเทียบอัตราส่วนในเรื่องหนึ่งๆ ว่าบุคคลมีระดับ “Q” นั้นมากน้อยเท่าใด การตั้งชื่อย่อที่ลงท้ายด้วยตระกูล “Quotient” จึงเป็นที่นิยมนำใช้นิยามกัน เพื่อการจดจำที่ง่าย และสะดวกในการนำมาใช้อธิบายเนื้อหาหรือแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และเป็นการประเมินวัดด้วยว่า บุคคลมีระดับ Q เป็นอย่างไร ชี้บ่งถึงลักษณะของผู้ที่มี “Q” ระดับสูง จนมาถึง “Q” ระดับกลุ่มต่ำ เพื่อจะได้นำมาพิจารณา ให้ความช่วยเหลือ หรือพัฒนาต่อไปได้อย่างมีทิศทาง 

“Q” แต่ละ “Q” มีบทบาทที่ต่างกันออกไป ในการอธิบายและการนำไปใช้ด้วยเช่นกัน หากจะถอยเวลาไปประมาณหลายพันปี การบ่งบอกว่าใครคือผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ประสบความสำเร็จ” หรือเป็นผู้นำกลุ่มได้ จะดูจากว่าบุคคลนั้น มีความกล้าหาญ (แสดงออกมาเห็นทางกาย) ผนวกมีพละกำลัง ความแข็งแกร่ง ความสามารถในการรบเป็นอย่างไร ไม่เว้นแม้แต่กษัตริย์ จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะด้านการสู้รบ การฝึกฝนด้านกำลังกาย ให้ร่างกายนั้นกำยำ แข็งแรง ผู้นำใดที่อ่อนแอ มักจะถูกแอบจ้องทำลาย หรือโค่นล้มความเป็นผู้นำลงด้วยการใช้กำลัง ดังปรากฏให้เห็นในประวัติศาสตร์ของหลายประเทศที่ได้จารึกไว้ หรือหากจะคำของตระกูล “Q” ก็คือ การวัดความเป็นผู้นำวัดได้จากระดับของความแข็งแรงหรือแข็งแกร่งของสุขภาพกาย (Health Quotient ; HQ) ผู้นำในสมัยนั้น จึงเป็นผู้ที่ต้องคอยปกป้องประเทศจากข้าศึกที่อาจจะโจมตีเข้ามา หรือรุกรานประเทศอื่น เพื่อล่าอาณานิคมขยายพื้นที่ของอาณาจักรให้แผ่ขยาย แสดงถึงอำนาจที่แผ่ขยายออกไป

อย่างไรก็ตาม การนำผู้คนเป็นพันเป็นหมื่นเข้าไปสู้รบเพื่อนำชัยชนะกลับมาหรือการนำผู้พ่ายแพ้มาเป็นเชลย จะต้องแลกชีวิตกับชีวิตด้วยกันอยู่ตลอด การสูญเสียทรัพยากรบุคคล การล้มหายตายจาก การพลัดพรากบุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัว โดยเฉพาะลูกชาย หรือเพศชายเกิดขึ้นทั่วทุกหนแห่ง และเริ่มมีข้อสังเกตว่า ทำไมหลายครั้งของการออกรบ ผู้คนหรือจำนวนทหารที่มีเรือนหมื่นเรือนแสน กลับเอาชนะกลุ่มคนที่มีความชำนาญด้านการรบเพียงไม่กี่ร้อย ไม่กี่พันได้ กลุ่มคนเพียงน้อยนิด ทำอย่างไรจึงเอาชนะคนเป็นหมื่นเป็นแสน ซึ่งต่างกันเป็นหลายร้อยเท่าตัวได้

การให้ความสำคัญของ “ความฉลาดด้านสติปัญญา” จึงเริ่มเกิดมากขึ้น ราว 2,000 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่จะเรียกว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ และเป็นผู้นำชุมชน นอกจากจะเป็นมีความสามารถด้านการสู้รบแล้ว ยังควรจะมีความสามารถทางด้านสติปัญญาด้วย ไม่ใช่ถือความแข็งแกร่งเป็นตัววัดชัยชนะอย่างเดียว มีการให้คุณค่า และยกย่องกับกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ แทนผู้นำที่มีแต่กำลังเพียงอย่างเดียว ที่มีแต่กร้าวและมุทะลุ 

ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เริ่มมีการศึกษาค้นคว้าด้านเชาวน์ปัญญากันมากขึ้น สังคมเริ่มเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า บุคคลที่มีเชาวน์ปัญญา สูงจะประสบความสำเร็จในการกระทำกิจกรรมทั้งปวง มากกว่าบุคคลที่มีสติปัญญาต่ำ และมีการบัญญัติศัพท์ของการวัดระดับความสามารถทางเชาวน์ปัญญาของบุคคลคือ Intelligence Quotient หรือคำย่อคือ I.Q. ขึ้นมา 

ความเชื่อและค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับ “คนเก่ง” ในสังคม จึงวัดกันที่ การเป็นคน “เรียนเก่ง” วัดกันที่ระดับการศึกษาสูง จึงจะเรียกว่า เป็นคนฉลาด ! อย่างไรก็ตาม ความฉลาดดังกล่าว ไม่ได้เป็นความฉลาดที่ทำให้เกิด “ปัญญา” แต่เป็นความฉลาดเฉพาะ “หัวคิด” เสียส่วนใหญ่ จึงมีหลายครั้ง พลาดท่าด้วยคำว่า “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” “ฉลาดแต่ไม่เฉลียว” เห็นแก่ตัว ใช้ความรู้เอาเปรียบคน หรือเครียดเพราะตกต่ำในด้านอันดับที่เคยได้ จากที่ 1 เป็นที่ 3 อดทนไม่ได้ ต้องจบชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย เรียนจนไม่มีมนุษยสัมพันธ์กับคน เก่งคนเดียวเชิง “ศิลปินเดี่ยว” ไม่มีใครตามทัน อารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว จนคนรอบข้างจางหาย

ในช่วงระยะ 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ฐานความคิดที่ว่า การให้ความหมายของความสำเร็จ หรือคนเก่ง หรือผู้นำที่ต้องเป็นผู้มาจาก I.Q. สูง เริ่มเปลี่ยนไป มีการทดลองมากมายที่พบว่า ระบบ I.Q. ไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนถึงความสำเร็จทั้งหมด ที่ต้องคอยเอาแต่ “เรียน เรียน เรียน ท่อง ท่อง ท่อง จด และ จำไปเรื่อยอย่างเดียว ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตหลายคน ไม่ใช่คนที่เรียนสูง จบปริญญาตรี โท เอก หรือโพสต์ด๊อก แต่อย่างใด น่าจะมีมีปัจจัยอื่นที่เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความสำเร็จของบุคคลออกมามากกว่านั้น 

ในปี 1973 McCleland แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เขียนบทความวิพากษ์การวัดเชาวน์ปัญญาหรือ I.Q. ไว้ว่า เกรดเฉลี่ยและระดับเชาวน์ปัญญาไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของชีวิตของบุคคล แต่ควรให้ความสำคัญกับการวัดความสามารถหรือการวัดสมรรถนะ (Competencies) ที่ทำนายพฤติกรรม และความสำเร็จได้มากกว่า เพราะจากการศึกษาของเขา พบว่า กลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จโดดเด่น (ซึ่งเขาเรียกว่า Stars) จะมีความสามารถเข้าใจอารมณ์ รับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นได้ดีกว่ากลุ่มคนทั่วไป และในปีค.ศ.1990 นักวิชาการในประเทศสหรัฐอเมริกา ปีเตอร์ ซาโลเวย์ (Peter Salovey) และจอห์น เมเยอร์ (John Mayer) สองนักจิตวิทยาได้พูดถึงอีคิว (Emotional Intelligence ; EI หรือ Emotional Quotitent ; EQ.) เป็นครั้งแรกว่า “เป็นรูปแบบหนึ่งของการวัดทักษะและความฉลาดทางสังคมที่ประกอบด้วยความสามารถในการรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเอง และผู้อื่นสามารถแยกความแตกต่างของอารมณ์ที่เกิดขึ้น และใช้ข้อมูลนี้เป็นเครื่องชี้นำในการคิดและกระทำสิ่งต่าง ๆ” ซึ่งผู้ที่บุกเบิกคนสำคัญคือ Daniel Goleman (1998) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ให้ความหมายของอีคิวว่า “เป็นความสามารถในการตระหนักรู้ถึง ความรู้สึกของ ตนเอง และของผู้อื่น เพื่อการสร้างแรงจูงใจในตัวเอง บริหารจัดการอารมณ์ต่าง ๆ ของตนและอารมณ์ที่เกิดจากความสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้” Goleman ศึกษาพบว่า EQ. มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการเรียน และการทำงานถึง 4 เท่าของ I.Q. นั่นคือ I.Q. ไม่ได้เป็นคำตอบของ ความก้าวหน้าในระยะยาว ขึ้นอยู่กับเรื่องของ EQ. มากกว่า เพราะคนที่มีระดับไอคิวที่สูง เป็นลูกน้องคนที่มีอีคิวสูงอยู่มากมาย 

อาจกล่าวได้ว่า ลักษณะของคนที่มี EQ. ที่ดี จะมีหลัก “SMILE” เป็นองค์ประกอบ ดังนี้ 

S = Self –Awareness คือ ความสามารถในการเข้าใจในตนเอง รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ถนัดอะไร สามารถตรวจสอบ ตระหนักรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของตนเองในแต่ละช่วงขณะได้

M = Manage Emotion คือ ความสามารถในการเข้าใจภาวะอารมณ์ของตนเองว่าขณะนี้รู้สึกอย่างไร และจะตอบสนองหรือควบคุม จัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ในสภาวะต่างๆ ด้วยวิธีการแบบใด ที่ไม่ใช่การเก็บกดอารมณ์ หรือปล่อยอารมณ์ตามอำเภอใจ รู้จักที่จะบริหารและจัดการกับสภาวะที่ตึงเครียดให้ผ่านพ้นไปได้

I = Innovate Inspiration คือ การสร้างแรงบันดาลใจแห่งตนเองให้เกิดขึ้นได้ การสร้างภาพและกระทำพฤติกรรมแห่งความรู้สึกดี รู้สึกสุขให้ปรากฏแก่ตนเองและผู้อื่นได้ เพื่อเป็นพลังในการทำสิ่งต่างๆ 

L = Listen with head and heart คือ การรู้จักฟังคนอื่นเป็น ไม่ใช่เพียงแค่ได้ยิน (hear) รู้จักที่จะเอาใจใส่ เข้าอกเข้าใจผู้อื่น ดังคำกล่าวที่ว่ารู้จัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ได้ ไวต่ออารมณ์ของผู้อื่นและตอบสนองต่ออารมณ์นั้นอย่างเหมาะสม

E = Enhance social skill คือ ทักษะทางสังคม สามารถสร้างมนุษยสัมพันธ์ ปรับตัวเข้ากับผู้อื่น หรือการเจรจาไกล่เกลี่ย ประนีประนอมได้ เพื่อให้สัมพันธภาพคงอยู่และต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ได้เกิดแนวคิดอีกมุมมองหนึ่ง มองว่า คนหลายคนมีระดับเชาวน์ปัญญาดี อารมณ์หนักแน่น แต่ไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จอยู่ในแนวหน้า นักสู้ชีวิตหลายคน ไม่ได้เป็นคนที่มีการศึกษาสูง และไม่ได้มีเส้นสายมากมาย แต่ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ หลายคนรู้ในหลายเรื่อง ยิ่งรู้มาก ยิ่งกลัวจนไม่กล้าจะทำอะไร หลายคนมีเพื่อนฝูงมากมาย แต่ทำอะไรก็ล้มเหลวหรือเลิกล้มได้ง่าย เมื่อพบกับปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ อาทิ ปัญหาส่วนตัว ปัญหาการเรียน ปัญหาการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ หรือปัญหาครอบครัว คนเหล่านี้กลับหมดแรงที่จะเดินหน้าทั้งที่มีน่าจะก้าวต่อไปสู่ความสำเร็จได้ 

ผู้ที่ให้คำตอบในเรื่องนี้ คือ พอล สตอลท์ (Paul G. Stoltz) เขาเปรียบชีวิตเหมือนกับการไต่ปีนขึ้นสู่ภูเขาสูง เขาบอกว่า “ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะด้านการงานนั้น จะต้องอุทิศตนเพื่อก้าวไปสู่เบื้องหน้าที่ไกลและสูงอย่างไม่หยุดหย่อนโดยไม่เหนื่อยล้ากันได้ ซึ่งบางก้าวอาจช้า บางจังหวะก็ไปได้เร็ว ล้มเหลวบ้าง ล้มลุกบ้าง เจ็บปวดบ้าง บอบช้ำบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต และความสำเร็จในแต่ละเรื่องแต่ละครั้งนั้น มันก็เป็นเพียงจุดๆ หนึ่งของชีวิต ณ เวลานั้นเท่านั้น ชีวิตจึงต้องก้าวเดินต่อไปตลอดชีวิต แม้จะมีอุปสรรค สิ่งกีดขวางทางเดินของเรา มันยิ่งช่วยทำให้เราเกิดประสบการณ์กว้างขึ้น และชีวิตแข็งแกร่งขึ้น” 

สตอลท์ได้บัญญัติศัพท์ AQ. ขึ้นมา ซึ่งมาจากคำว่า Adversity Quotient หมายถึง ความสามารถในการเผชิญกับอุปสรรค ” โดยเขาได้ให้ความหมายของคำนี้ว่า เป็นความสามารถของบุคคลในการฝ่าฟันกับปัญหา และหรือความยากลำบากต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นในการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ ด้วยความกระตือรือร้นอย่างแรงกล้า และการกล้าที่จะทำตามสิ่งที่ตนได้ตั้งเป้าหมายไว้ และก้าวไปสู่จุดหมายนั้น เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศอย่างมุ่งมั่น เขากล่าวว่า ความท้อถอย ท้อแท้ เป็นตัวทำลายพลังและศักยภาพที่บุคคลนั้นมีอยู่ และยังให้ข้อคิดว่า แม้วคนที่เก่งหรือคิดว่าตนเองประสบความสำเร็จแล้ว ก็อย่าได้หลงตัวเองเป็นอันขาดว่าสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่นั้นมันสุดยอดแล้ว และคิดแต่ว่าตัวเองเก่ง แน่ อยู่คนเดียว ไม่มีใครอีกแล้วที่จะทำงานอย่างที่ตนทำได้ ดังคำเปรียบเปรยที่ว่า “อย่าเพิ่งวัดความสูงของยอดเขาที่เราจะไต่ขึ้น จนกว่าคุณจะปีนขึ้นไปถึงยอดเขานั้นแล้ว และเมื่อนั้น คุณจะว่า เพราะอะไรจึงไม่ต้องเสียเวลาไปคอยวัด เพราะเมื่อขึ้นยอดเขานั้นแล้ว คุณจะเห็นว่า ยังมีที่ยอดเขาที่สูงกว่าที่คุณปีนขึ้นไปอีกตั้งมากมาย”

สตอลท์แบ่งบุคคลออกมาเป็น 3 กลุ่ม เหมือนลักษณะของนักปีนเขา ไว้ดังนี้

พวกล้มเหลว (Quitter) จะถอยห่าง ยอมแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่มีการตั้งเป้าหมาย หรือจุดหมาย ลักษณะของคนกลุ่มนี้ จะลังเล ขี้กลัว ไม่กล้าเสี่ยง ถอดใจตั้งแต่เริ่มต้น

พวกล้มเลิก (Camper) หรือเรียกอีกอย่างว่า ท่าดีทีเหลว ช่วงแรกอาจจะมีเป้าหมายที่ดี พอทำไปสักพัก เจออุปสรรคหรือปัญหา ก็เกิดอาการท้อแท้ เลิกล้มไปโดยง่าย

พวกล้มลุก (Climber) คือเป็นลักษณะของนักปีนเขาโดยแท้ นั่นคือ เป็นที่มีความอดทน มุ่งมั่น มุ่งหน้า เพื่อไปสู่จุดหมายอย่างไม่ยอมแพ้โดยง่าย แม้ว่าจะมีอุปสรรคเข้ามาท้าทาย ตัวเขา แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาจะทำให้กลุ่มคนกลุ่มนี้ เลิกล้มแต่ประการใด 

นั่นคือ กลุ่มคนแบบที่ 3 นั้น เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มี AQ. สูง โดย สตอลท์ ได้กำหนด

.
บันไดในการก้าวไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้ได้ มี 3 ขั้น คือ

ขั้นแรก Dream the Dream คือ การทำตัวเป็นคนช่างฝัน ฝันอยากทำได้อย่างนั้น สามารถทำได้อย่างนี้ เป็นลักษณะ “การรู้จักจินตนาการความเป็นไปได้ที่ชีวิตเราจะต้องดีกว่านี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต”

ขั้นที่สอง Making the Dream the Vision คือ การคิดทำสิ่งที่ใฝ่ฝันนั้นให้เป็นจริง สามารถเห็นภาพการขับเคลื่อนของความฝันนั้นอย่างต่อเนื่อง ชัดเจน ที่ว่าวิสัยทัศน์ มิใช่ได้แต่คิดแต่เพ้อฝันลมๆ แล้งๆ ไม่เริ่มทำ

ขั้นที่สาม Sustaining the Vision คือ การสร้างวิสัยทัศน์นั้นให้คงอยู่ว่าเราทำได้ ให้กำลังใจในการก้าวไปสู่สิ่งซึ่งตั้งใจ หนักแน่น มั่นคงได้เสมอ และมีทัศนคติทางบวกว่า ที่ฝรั่งว่า Can Do Attitude เป็นลักษณะ “รู้จักคงสภาพวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สูง นี้ได้อย่างต่อเนื่อง มั่นคง ชัดเจน จนกว่าจะก้าวเข้าไปบรรลุถึงซึ่งเป้าหมาย”

 

สตอลท์ได้สร้างแบบทดสอบ AQ. และการพัฒนา AQ. ด้วยตนเอง ที่เรียกย่อๆ ว่า CORE ซึ่งผลแปลว่า รากแก่นฐานแน่น คำย่อในแต่ละตัวมีความหมายดังนี้

C = Control คือ ความสามารถ ในการควบคุมสถานการณ์หรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นได้

O = Ownership คือ ความสามารถในการเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งที่เกิดจากการกระทำของตนเองหรือผู้ร่วมงานด้วยกันได้

R = Reach คือ ความสามารถในการจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นให้อยู่ในวงจำกัด และสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว โดยมิให้ปัญหานั้นๆ ไปส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการดำเนินชีวิตในด้านอื่นๆ

E = Endurance คือ ความสามารถในการรักษากำลังใจของตนเอง ในการต่อสู้ กับปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ อย่างมุ่งมั่น มุ่งหน้า มุ่งหมายกันได้

อย่างไรก็ตาม  ในโลกปัจจุบัน  ยังมีการพูดถึง  “Q”  ที่สำคัญอีกตัวหนึ่งของการจะนิยามถึงผู้ที่ประสบความสำเร็จ คือ  MQ  ย่อมาจากคำว่า  Moral Quotient  ซึ่งหมายถึง  ระดับจริยธรรมศีลธรรมบุคคล เป็นสามารถการควบคุมตนเอง มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ มีความกตัญญู เป็นคนดี มีระเบียบวินัย มีสำนึกผิดชอบชั่วดี และเคารพนับถือผู้อื่น มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อสังคมและมนุษยชาติ

จิตแพทย์ชื่อ โรเบิร์ต โคลส์  (Cole ; 1997 ) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด   กล่าวว่า MQ. นั้นไม่สามารถฝึกฝนหรือขัดเกลาได้ในช่วงเวลาสั้นๆ  การที่บุคคลคนหนึ่งจะมี MQ.  อยู่ในระดับที่ดี ต้องเริ่มปลูกฝังในวัยเด็กจึงจะได้ผล โดยอาศัยปัจจัย 3 อย่างเข้าด้วยกันคือ  การสอนศีลธรรมโดยตรงให้กับเด็ก การถ่ายทอดทางศีลธรรมจากผู้ใหญ่ให้กับเด็ก   และความรักและวินัย

MQ.  เป็นเรื่องที่ต้องฝึกมาตั้งแต่วัยเด็ก ถ้าบุคคลได้รับการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมมาแต่ยังเป็นเด็ก  คุณธรรมและจริยธรรมดังกล่าวก็จะฝังรากลึกลงไปในจิตใต้สำนึก ของบุคคลผู้นั้น และจะรอเวลาที่ได้รับการกระตุ้นอีกครั้ง ผ่านทางการอบรมสั่งสอน การฟังและปฏิบัติในหลักธรรม  หรือวิธีอื่น ๆ  แต่ถ้าบุคคลไม่มี MQ . อยู่ในจิตสำนึกดั้งเดิมแล้ว   การจะทำให้บุคคลนั้นมีจริยธรรม หรือการเป็นคนที่ดีนั้น  จะกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้ลำบาก 

ในทางจิตวิทยา  ผู้ที่สร้างทฤษฎีในเชิงจริยธรรม คือ  Lawrance Kolhberg (1927-1987)  แม้เขาไม่ไดเป็นผู้ที่บัญญัติศัพท์ของ MQ.  ขึ้น แต่แนวคิดของเขานั้นอธิบายถึงเรื่องของจริยธรรมได้อย่างชัดเจน   โคลเบิร์กได้สร้างสถานการณ์สมมติปัญหาทางจริยธรรม ที่ผู้ตอบยากที่จะตัดสินใจได้ว่า “ถูก” “ผิด” “ควรทำ” หรือ “ไม่ควรทำ” อย่างเด็ดขาด เพราะขึ้นกับองค์ประกอบหลายอย่าง การตอบจะขึ้น กับวัยของผู้ตอบ เกี่ยวกับความเห็นใจ ในบทบาทของผู้พฤติกรรมในเรื่องค่านิยม ความสำนึกในหน้าที่ในฐานะเป็นสมาชิกของสังคม ความยุติธรรมหรือหลักการที่ตนยึด และจากการวิเคราะห์คำตอบของผู้ตอบวัยต่าง ๆ  โคลเบิร์กได้แบ่งพัฒนาการทางจริยธรรมออกเป็น 3 ระดับ (Levels) แต่ละระดับแบ่งออกเป็น 2 ขั้น (Stages)  รวมเป็น 6 ขั้นของการพัฒนาทางจริยธรรม  ดังต่อไปนี้   ดังนี้

 

ขั้นที่ 1 การลงโทษ และการเชื่อฟัง

ในขั้นนี้เด็กจะใช้ผลตามของพฤติกรรมเป็นเครื่องชี้ว่า พฤติกรรมของตน “ถูก” หรือ “ผิด” เป็นต้นว่าถ้าเด็กถูกทำโทษก็จะคิดว่าสิ่งที่ตนทำ “ผิด” และพยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำสิ่งนั้นอีก พฤติกรรมใดที่มีผลตามด้วยรางวัลหรือคำชม เด็กก็จะคิดว่าสิ่ง ที่ตนทำ “ถูก” และจะทำซ้ำอีกเพื่อหวังรางวัล

ขั้นที่ 2 กฎเกณฑ์เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของตน

ในขั้นนี้เด็กจะสนใจทำตามกฎข้อบังคับ เพื่อประโยชน์หรือความพอใจของตนเอง หรือทำดีเพราะอยากได้ของตอบแทน หรือรางวัล ไม่ได้คิดถึงความยุติธรรมและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น พฤติกรรมของเด็กในขั้นนี้ทำเพื่อสนองความต้องการ เห็นใจผู้อื่น หรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น พฤติกรรมของเด็กในขั้นนี้ทำเพื่อสนองความต้องการของตน แต่มักจะเป็นการแลกเปลี่ยนกับคนอื่น เช่น ประโยค “ถ้าเธอทำให้ฉัน ฉันจะให้………”

ขั้นที่ 3 ความคาดหวังและการยอมรับในสังคมสำหรับ “เด็กดี”

พัฒนาการทางจริยธรรมขั้นนี้เป็นพฤติกรรมของ “คนดี” ตามมาตรฐานหรือความคาดหวังของบิดามารดา หรือเพื่อนวัยเดียวกัน พฤติกรรม “ดี” หมายถึง พฤติกรรมที่จะทำให้ผู้อื่นชอบและยอมรับ หรือไม่ประพฤติผิดเพราะเกรงว่าพ่อแม่จะเสียใจ

ขั้นที่ 4 กฎและระเบียบ

เหตุผลทางจริยธรรมในขั้นนี้ถือว่าสังคมจะอยู่ด้วยความมีระเบียบร้อยต้องมีกฎหมายและข้อบังคับ คนดีหรือคนที่มีพฤติกรรมถูกต้อง คือคนที่ปฏิบัติตามระเบียบบังคับหรือกฎหมาย ทุกคนควรเคารพกฎหมาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความเป็นระเบียบของสังคม

ขั้นที่ 5 สัญญาสังคมหรือหลักการทำตามคำมั่นสัญญา

ขั้นนี้เน้นถึงความสำคัญของมาตรฐานทางจริยธรรมที่ทุกคนหรือคนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับ ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องสมควรที่จะปฏิบัติตาม โดยพิจารณาถึงประโยชน์และสิทธิของบุคคลก่อนที่จะใช้มาตรฐานทางจริยธรรม ได้ใช้ความคิดและเหตุผลเปรียบเทียบว่าสิ่งไหนผิดและสิ่งไหนถูก ในขั้นนี้การ “ถูก” และ “ผิด” ขึ้นอยู่กับค่านิยมและความคิดเห็นของบุคคลแต่ละบุคคล แม้ว่าจะเห็นความสำคัญของสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างบุคคล แต่เปิดให้มีการแก้ไข โดยคำนึงถึงประโยชน์และ สถานการณ์แวดล้อมในขณะนั้น

ขั้นที่ 6 หลักการคุณธรรมสากล (Universal Ethical Principle Orientation)

ขั้นนี้เป็นหลักการมาตรฐานจริยธรรมสากล เป็นหลักการเพื่อมนุษยธรรม เพื่อความเสมอภาคในสิทธิมนุษยชน และเพื่อความยุติธรรมของมนุษย์ทุกคนในขั้นนี้สิ่งที่ “ถูก” “ผิด” เป็นสิ่งที่มโนธรรมของแต่ละบุคคลที่เลือกยึดถือ กล่าวโดยสรุปแล้ว การจะกำหนดว่าความสำเร็จของบุคคลวัดได้จากสิ่งใดนั้น ไม่สามารถใช้เรื่องใดเรื่องหนึ่งในการวัด เพราะในแต่ละบุคคลอาจมีจุดเด่น และจุดด้อยในแต่ละเรื่องที่ต่างกันไป การพัฒนาเด็ก คนพัฒนาตน จึงควรเริ่มจากการสำรวจบุคคลที่เราต้องการปรับหรือพัฒนาก่อนว่าเขามี “ส่วนดี” ด้านใด และ “ส่วนอ่อน” ตรงไหน แล้วจึงเสริม หรือสร้างเข้าไป จึงจะเกิดความสมดุลและความสำเร็จได้

 

ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา

ประธานโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ